Synbiotic คืออะไร? มีประโยชน์อย่างไร? : I2

0
16600

วันนี้ ผศ.ดร. สุวิมล ทรัพย์วโรบล ประธานหลักสูตรโภชนาการและการกำหนดอาหาร คณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาให้ความรู้แก่แฟนเพจทุกท่านอีกเช่นเคยค่ะ

ซินไบโอติก(Synbiotics) คืออะไรกันนะ

โพรไบโอติก (Probiotics) เป็นจุลินทรีย์ที่มีชีวิตในระบบทางเดินอาหาร เมื่ออยู่ในระบบทางเดินอาหารโพรไบโอติก จะช่วยปรับสมดุลทำให้แบคทีเรียที่ดีมีจำนวนมากขึ้น และแบคทีเรียที่ไม่ดีมีจำนวนลดลง จึงช่วยทำให้ระบบทางเดินอาหารทำงานดีขึ้น ช่วยเสริมสร้างระบบภูมิต้านทานโรคและช่วยลดภาวะอักเสบในร่างกายได้

ในขณะที่พรีไบโอติก (Prebiotics) เป็นส่วนของอาหารที่ย่อยไม่ได้ แต่ช่วยให้สภาวะในระบบทางเดินอาหารเหมาะสมสำหรับการเจริญเติบโตของโพรไบโอติก และเป็นอาหารของโพรไบโอติก โดยทั่วไปพรีไบโอติกมักเป็นอาหารในกลุ่มคาร์โบไฮเดรต เช่น ฟรุคโตโอลิโกแซคคาไรด์ (fructooligosaccharide, FOS) และอินูลิน (inulin) เป็นต้น

เมื่อรวมโพรไบโอติกและพรีไบโอติกไว้ในผลิตภัณฑ์อาหารเดียวกัน เราเรียกผลิตภัณฑ์นั้นว่าผลิตภัณฑ์ที่มี “ซินไบโอติก (Synbiotics)”

ปัจจุบันอุตสาหกรรมอาหารเพื่อสุขภาพจึงมักเติมซินไบโอติกลงไปเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากเลือกชนิดของโพรไบโอติกและพรีไบโอติกที่เหมาะสมกันไว้ในผลิตภัณฑ์อาหารเดียวกัน จะยิ่งเสริมฤทธิ์ทำให้ซินไบโอติกนั้น ให้ประโยชน์สูงสุด

การศึกษาประโยชน์ของซินไบโอติกต่อโรคเรื้อรังต่างๆ มีออกมาจำนวนมาก ในจำนวนนี้ผลของการศึกษาแบบ randomised, double-blind, placebo-controlled การใช้ซินไบโอติกในผู้ป่วยโรคตับที่ไม่ได้เกิดจากแอลกอฮอล์ (Nonalcoholic fatty liver disease ;NAFLD) จำนวน 50 คน พบว่าผู้ป่วยที่ได้รับ ซินไบโอติกที่ประกอบด้วยจุลินทรีย์ 7 สายพันธุ์ (Lactobacillus casei, Lactobacillus rhamnosus, Streptococcus thermophilus, Bifidobacterium breve, Lactobacillus acidophilus, Bifidobacterium longum and Lactobacillus bulgaricus) และ พรีไบโอติก ชนิด FOS เป็นระยะเวลา 28 สัปดาห์ มีระดับน้ำตาลในเลือดหลังอดอาหารและระดับไตรกลีเซอไรด์ลดลง และสารบ่งชี้การอักเสบต่างๆ ได้แก่ high-sensitive C-reactive protein, TNF-α ลดลงด้วย นอกจากนั้นการศึกษายังพบด้วยว่า ภายหลังการได้รับซินไบโอติกเป็นระยะเวลา 28 สัปดาห์ ผู้ป่วยโรคตับ NAFLD มีไขมันพอกตับลดลงด้วย1 เมื่อศึกษาประโยชน์ของการใช้ซินไบโอติกที่ประกอบด้วยจุลินทรีย์ 4 สายพันธุ์ (Lactobacillus family, Bifidobacterium family, Streptococus thermophiles) และพรีไบโอติก FOS ในปริมาณ 500 มิลลิกรัมต่อวัน เป็นระยะเวลา 9 สัปดาห์ จำนวน 70 คนพบว่าผู้ป่วยเบาหวานกลุ่มที่ได้รับซินไบโอติกมีระดับน้ำตาลเฉลี่ยในเลือดต่ำกว่าและสามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ดีกว่ากลุ่มที่ไม่ได้รับซินไบโอติก2

อย่างไรก็ตามการใช้ผลิตภัณฑ์อาหารที่มีซินไบโอติกมีข้อควรระวังในการใช้ เช่น ในกลุ่มคนที่มีภาวะภูมิต้านทานต่ำ ในหญิงตั้งครรภ์ ในทารกแรกเกิดและในผู้สูงอายุ

ผลิตภัณฑ์เหล่านี้อาจทำให้เกิดอาการท้องอืด ท้องเฟ้อได้ จึงควรใช้ด้วยความระมัดระวัง

แหล่งข้อมูล:

  1. Mofidi F, Poustchi H, Yari Z, et al. Synbiotic supplementation in lean patients with non-alcoholic fatty liver disease: a pilot, randomised, double-blind, placebo-controlled, clinical trial. The British journal of nutrition. Mar 2017;117(5):662-668.
  2. Ebrahimi ZS, Nasli-Esfahani E, Nadjarzade A, Mozaffari-Khosravi H. Effect of symbiotic supplementation on glycemic control, lipid profiles and microalbuminuria in patients with non-obese type 2 diabetes: a randomized, double-blind, clinical trial. Journal of diabetes and metabolic disorders. 2017;16:23.
  3. Pandey KR, Naik SR, Vakil BV. Probiotics, prebiotics and synbiotics- a review. J Food Sci Technol. Dec 2015;52(12):7577-7587