รู้หรือไม่ ?? ในปัจจุบันโรคไขมันพอกตับไม่ได้พบเฉพาะในกลุ่มคนที่อายุมากเท่านั้นนะ

0
2638

วันนี้เพจดร.พิทักษ์ตับมีข้อมูลใหม่ล่าสุดเกี่ยวกับโรคไขมันพอกตับที่พบมากขึ้นๆในคนที่อายุน้อยลงๆซึ่งข้อมูลนี้ได้ถูกนำเสนอในงาน The international Congress Liver Congress 2019 ณ กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรียและเผยแพร่ในเว็ปไซต์ของ EUROPEAN ASSOCIATION FOR THE STUDY OF THE LIVER  เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2562 ที่ผ่านมามาเล่าสู่กันฟังค่ะ

➧ข้อมูลจากงานวิจัยในอาสาสมัครที่อยู่ในการศึกษา  Avon Longitudinal Study of Parents and Children หรือ ALSPAC พบว่าความชุกของโรคไขมันพอกตับที่ตรวจด้วยเครื่องอัลตราซาวด์ในอาสาสมัครช่วงวัยรุ่นเพิ่มขึ้นจาก 2.5% เป็น 21% เมื่อตรวจซ้ำอีกครั้งหนึ่งด้วยเครื่องไฟโบรสแกนเมื่อมีอายุเข้าสู่วัยทำงาน  (อายุเฉลี่ย 24 ปี) โดยในจำนวนคนที่มีไขมันพอกตับนั้นมีถึง 50 % ที่มีปริมาณไขมันในตับอยู่ในระดับสูงมาก และ 2.4% มีพังผืดในเนื้อตับโดยที่ 0.3 % มีพังผืดในเนื้อตับมากจนถึงสภาวะตับแข็งค่ะ

➧นอกจากนี้ยังพบว่าการเพิ่มขึ้นของเอนไซม์ตับซึ่งเกี่ยวข้องกับการทำงานของตับ ได้แก่ ALT, AST และ GGT สัมพันธ์กับการเพิ่มขึ้นของไขมันและพังผืดในตับอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ และปริมาณไขมัน (CAP score) และพังผืดในตับ (F score) ก็สัมพันธ์กับระดับของไขมันพอกตับ, ระดับไขมันในเลือด ได้แก่ คอเลสเทอรอล, ไตรกลีเซอไรด์,ไขมันแอลดีแอล และดัชนีมวลกายที่เพิ่มขึ้นด้วย

➧จากข้อมูลนี้จะเห็นได้ว่าปัจจุบันโรคไขมันพอกตับไม่ได้พบเฉพาะในกลุ่มคนที่อายุมากเท่านั้น ดังนั้นวันนี้ทางเพจดร.พิทักษ์ตับจึงมีเทคนิคที่จะช่วยบำรุงสุขภาพตับสำหรับทุกๆคนและทุกๆวัยในครอบครัวมาฝากกันค่ะ

💃มูลนิธิโรคตับแห่งสหรัฐอเมริกาหรือ American Liver Foundation แนะนำเคล็ดลับในการกินอาหารสำหรับประชาชนทั่วไปเพื่อสุขภาพตับที่ดี ดังนี้ค่ะ

💪    กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ แต่ละหมู่ให้หลากหลายเพื่อให้ได้สารอาหารที่ครบถ้วน ในขณะที่ลดการรับสารก่อมะเร็งจากการกินอาหารชนิดใดชนิดหนึ่งซ้ำๆกันเป็นระยะเวลานานๆ

💪    กินผักและผลไม้และอาหารที่มีเส้นใยสูงเป็นประจำเพื่อให้ได้รับวิตามินและเกลือแร่ที่จำเป็นอย่างเพียงพอ นอกจากนี้เส้นใยอาหารยังช่วยดูดซับสารก่อมะเร็งที่อาจมีในอาหารเพื่อขับทิ้งออกจากร่างกาย

💪    ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ เพราะน้ำจะช่วยให้การทำงานของตับดีขึ้น

💪    ควบคุมน้ำหนักตัวโดยการออกกำลังกายและกินแต่พอดี ไม่ปล่อยให้อ้วนจนเกินไป

💪    หลีกเลี่ยงอาหารประเภทไขมัน-น้ำตาล-เกลือสูง เช่น อาหารทอด อาหารฟาสต์ฟู้ด อาหารที่มีไขมันทรานส์

💪     หลีกเลี่ยงการกินสมุนไพร อาหารเสริมและยาบางชนิดที่อาจมีผลต่อตับ โดยควรปรึกษาแพทย์ก่อนการใช้เพื่อความปลอดภัย

💪     หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ หากจำเป็นต้องดื่มแนะนำในปริมาณที่เหมาะสมคือผู้ชายไม่เกินวันละ 2 ดริงค์  ผู้หญิงไม่เกินวันละ 1 ดริงค์

***สำหรับผู้ป่วยโรคตับควรปรึกษาเรื่องอาหารการกินกับคุณหมอที่ดูแลเพื่อความปลอดภัยและเหมาะสมกับสุขภาพร่างกายในขณะนั้นค่ะ

Reference

https://ilc-congress.eu/press-release/nonalcoholic-fatty-liver-disease-found-in-large-numbers-of-teenagers-and-young-adults-is-a-public-health-crisis-looming/