สวัสดีแฟนเพจดร.พิทักษ์ตับทุกท่านค่ะ วันนี้มีข้อมูลจากงานวิจัยดีๆเกี่ยวกับการตรวจสุขภาพตับด้วยเครื่องไฟโบรสแกนซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Hepatology เมื่อเดือนมกราคม 2561 มาฝากกันค่ะ
โครงการวิจัยนี้ทำในอาสาสมัครที่มีอายุมากกว่า 18 ปีขึ้นไปที่มีประวัติว่าเป็นโรคไขมันพอกตับที่ไม่ได้เกิดจากแอลกอฮอล์และลงทะเบียนอยู่ในฐานข้อมูล NAFLD และ NASH Clinical Research Network (NASH CRN) ณ ศูนย์สุขภาพ 8 แห่งในสหรัฐอเมริกา โดยการตรวจสุขภาพตับในงานวิจัยนี้จะใช้ Fibroscan 502 Touch และแนะนำให้อาสาสมัครงดอาหารเป็นระยะเวลา 12 ชั่วโมง การตรวจจะทำซ้ำจำนวน 2 ครั้งโดยเจ้าหน้าที่คนเดียว (87%) และ/หรือเจ้าหน้าที่ 2 คน (13%) และกำหนดค่าพิสัยของควอไทล์ (interquartile range/median (IQR)) ไม่เกิน 30% และค่าความสอดคล้องของผลการตรวจ 2 ครั้งต้องมากกว่า 95% ขึ้นไปค่ะ
ผลการวิจัยในอาสาสมัครจำนวน 992 คน ซึ่งมีดัชนีมวลกายเฉลี่ย 33.6 + 6.5 กิโลกรัม/ เมตร2 และทำการตรวจไฟโบรสแกนจำนวนทั้งสิ้น 1,696 ครั้งพบว่าการตรวจสุขภาพตับด้วยเครื่องไฟโบรสแกนเพื่อตรวจไขมันและพังผืดในตับมีความน่าเชื่อถือสูง (95%) อัตราการตรวจล้มเหลวน้อย (3.2%) นอกจากนี้ยังสามารถตรวจซ้ำเพื่อติดตามผลสุขภาพตับได้บ่อยๆหลังการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมด้วยการควบคุมอาหารและการออกกำลังกายเนื่องจากตรวจง่าย รวดเร็ว รู้ผลทันที และที่สำคัญไม่เป็นอันตรายหรือทำให้เกิดการเจ็บปวดในระหว่างการตรวจค่ะ
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สำคัญคือการดูแลตนเองหลังการตรวจไขมันพอกตับตามระดับไขมันและพังผืดที่ตรวจพบค่ะ ซึ่งวันนี้เรามี Helpful Tips ดีๆมาฝากกันค่ะ
- ไขมันและพังผืดปกติ เลือกกินอาหารที่ดีต่อสุขภาพและออกกำลังกายสม่ำเสมอ
- ไขมันสูง-พังผืดผิดปกติ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อวางแผนในการปรับเปลี่ยนเรื่องการกินอาหารและการออกกำลังกาย
- ไขมันปกติ-พังผืดมาก ควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจรักษาเพิ่มเติมร่วมกับการวางแผนในการปรับเปลี่ยนเรื่องการกินอาหารและการออกกำลังกาย
- ไขมันสูง-พังผืดมาก ควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจรักษาเพิ่มเติมร่วมกับการวางแผนในการปรับเปลี่ยนเรื่องการกินอาหารและการออกกำลังกาย
หมายเหตุ: ท่านสามารถอ่านบทความเกี่ยวกับแนวทางการดูแลเรื่องอาหารเพิ่มเติมได้ที่เพจ ดร.พิทักษ์ตับ หรือที่ website ดร.พิทักษ์ตับ ได้เช่นกันค่ะ
ขอบคุณข้อมูลดีๆจาก
- Vuppalanchi R, Siddiqui MS, Van Natta ML, et al. Performance characteristics of vibration-controlled transient elastography for evaluation of nonalcoholic fatty liver disease.Hepatology. 2018;67(1):134–144. doi:10.1002/hep.29489