โรคตับจากแอลกอฮอล์ คือ โรคตับที่เกิดจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณมากอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน ทำให้ตับเกิดการบาดเจ็บเสียหาย นำไปสู่ภาวะไขมันพอกตับ (Alcoholic fatty liver disease) ตับอักเสบเรื้อรัง (Alcoholic steatohepatitis) ตับอักเสบเฉียบพลัน (Alcoholic hepatitis) ตับแข็ง (Alcoholic cirrhosis) มะเร็งตับ (Hepatocellular carcinoma) และเสียชีวิต ดังนั้น ปริมาณการดื่มแอลกอฮอล์ส่งผลต่อความเสี่ยงที่ก่อให้เกิดโรคตับ
วันนี้ เรามาทำความเข้าใจกับคำว่า 1 ดื่มมาตรฐาน (standard drink) กันค่ะ 1 ดื่มมาตรฐานของประเทศไทย หมายถึง เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ผสมอยู่ 10 กรัม ซึ่งเป็นปริมาณที่ตับใช้เวลา 1 ชั่วโมง ในการขับออก
ตัวอย่าง 1 ดื่มมาตรฐาน เช่น
- เบียร์ที่มีแอลกอฮอล์ 5 % 1 ดื่มมาตรฐาน เท่ากับ 341 ซีซี หรือ 12 ออนซ์ หรือประมาณ 1 กระป๋อง หรือ 1 ขวดเล็ก
- ไวน์ ที่มีแอลกอฮอล์ประมาณ 8-12% 1 ดื่มมาตรฐาน เท่ากับ 142 ซีซี หรือ 5 ออนซ์ หรือประมาณ 1 แก้วไวน์
- วิสกี้ หรือ สุราที่มีแอลกอฮอล์ 40% 1 ดื่มมาตรฐาน เท่ากับ 43 ซีซี หรือ 1.5 ออนซ์
สมาคมอเมริกันเพื่อการศึกษาของโรคตับ (AASLD) และ สมาคมยุโรปเพื่อการศึกษาตับ (EASL) กล่าวว่าการที่ผู้ชายดื่มแอลกอฮอล์มากกว่า 3 ดื่มมาตรฐาน (ได้รับแอลกอฮอล์มากกว่า 30 กรัม/วัน) หรือ 21 ดื่มมาตรฐาน/สัปดาห์ และผู้หญิงที่ดื่มแอลกอฮอล์มากกว่า 2 ดื่มมาตรฐาน (ได้รับแอลกอฮอล์มากกว่า 20 กรัม/วัน) หรือ 14 ดื่มมาตรฐาน/สัปดาห์ เป็นเวลานานมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคตับ
นอกจากปริมาณและระยะเวลาดื่มที่มีผลต่อตับแล้ว ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่มีผล เช่น เพศ เชื้อชาติ พันธุกรรม ความอ้วน และโรคตับร่วมกับโรคอื่น เช่น ไวรัสตับอักเสบบี ซี เป็นต้น
นอกจากนี้ การดื่มสุราอย่างหนักภายในช่วงเวลาอันสั้น หรือ การดื่มแบบ “เมาหัวราน้ำ” เช่น ผู้ชายที่ดื่มแอลกอฮอล์มากกว่า 5 ดื่มมาตรฐาน หรือ ผู้หญิงที่ดื่มแอลกอฮอล์มากกว่า 4 ดื่มมาตรฐาน ในช่วงสั้น ๆ ประมาณ 2 ชั่วโมง ทำให้ระดับแอลกอฮอล์ในเลือดสูงมากกว่า 0.08 g/dl อย่างรวดเร็ว จะส่งผลต่อระบบต่าง ๆ เช่น สมอง ความจำ สติ ความดันโลหิต หัวใจ เสี่ยงต่ออุบัติเหตุและอาชญากรรมต่าง ๆ และยังทำให้เสี่ยงต่อการเกิดตับอักเสบเฉียบพลัน และตับวายเฉียบพลันในคนที่เป็นโรคตับเรื้อรัง (Acute-on-chronic liver failure) ซึ่งมีโอกาสเสียชีวิตสูง
Cr. สมาคมโรคตับแห่งประเทศไทย