ไวรัสตับอักเสบ “ซี” : C1

0
2996

เลือกอ่านตามหัวข้อ

ไวรัสตับอักเสบซี

เป็นเชื้อไวรัสชนิดหนึ่งที่ชอบอาศัยอยู่ในเซลล์ตับของคนเช่นเดียวกับไวรัสตับอักเสบชนิดอื่นๆ เช่น ไวรัสตับอักเสบเอ บี ดี และอี ซึ่งจำได้ง่าย เพราะเรียงตามอักษร 5 ตัวแรกในภาษาอังกฤษ

ปัจจุบันคนไทยมีการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีประมาณเกือบ 1 เปอร์เซ็นต์หรือมากกว่า 5 แสนคนขึ้นไป

สายพันธุ์ของไวรัสตับอักเสบซี

ไวรัสตับอักเสบซีที่พบทั่วโลกแบ่งออกเป็น 7 สายพันธุ์ (genotype) สำหรับในประเทศไทยพบมาก 4 สายพันธุ์โดยเรียงตามลำดับจากที่พบมากไปหาน้อยคือ สายพันธุ์ 3> 1> 6> 2 ค่ะ

กลุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ “ซี” 

ท่านทราบกันหรือไม่ว่าใครคือผู้ที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ “ซี” .
ไวรัสตับอักเสบซีติดต่อโดยทางเลือด ดังนั้นกลุ่มเสี่ยงจึงได้แก่

  1. ผู้ที่มีประวัติได้รับเลือด หรือส่วนประกอบของเลือด เช่น พลาสมา(น้ำเลือด) หรือเกล็ดเลือด เช่นจากการเสียเลือด หรือป่วยเป็นไข้เลือดออก
  2. ผู้ติดยาเสพติดชนิดฉีดเข้าเส้นโดยไม่มีการเปลี่ยนหัวเข็ม
  3. ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังที่รักษาด้วยการฟอกไตเป็นเวลานาน
  4. การสัก ตามตัวหรือเจาะหูโดยใช้เข็มที่ไม่สะอาด หรือการฉีดยากับหมอเถื่อนตามบ้าน
  5. การติดต่อทางเพศสัมพันธ์หรือ การติดต่อจากมารดาไปสู่ทารก พบได้บ้างแต่ไม่บ่อยเท่าไวรัสตับอักเสบบี

ไวรัสตับอักเสบซีทำให้เกิดตับอักเสบได้อย่างไร

เมื่อมีการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีเช่น ถูกเข็มตำที่มือ เชื้อไวรัสจะเข้าสู่เลือดและไปเพิ่มจำนวนอย่างมากมายในเซลล์ตับ โดยใช้เวลาฟักตัวประมาณ 2-3 เดือนก่อนที่จะมีตับอักเสบ อย่างไรก็ตามผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่มักไม่มีอาการของตับอักเสบให้เห็นชัดเจนจึงไม่ค่อยรู้ตัวว่าติดเชื้อไวรัส

การเกิดตับอักเสบนี้ไม่ได้เกิดจากเชื้อไวรัสเข้าไปทำลายเซลล์ตับตามความเข้าใจทั่วๆไปที่คิดว่าเชื้อไวรัสเข้าไปทำลายเซลล์ตับโดยตรงนะคะ…… แต่เป็นกลไกของภูมิต้านทานของร่างกายของเราที่พยายามกำจัดเชื้อไวรัสให้หมดไป ดังนั้นเมื่อมีการทำลายเชื้อไวรัสที่อาศัยอยู่ในเซลล์ตับจึงมีการทำลายเซลล์ตับร่วมไปด้วยทำให้มีการอักเสบของตับตามมา

อาการต่างๆที่เกิดจากตับแข็ง
ผู้ที่มีการอักเสบของตับแบบเรื้อรังหลายๆปีเช่น 10-20 ปีขึ้น จะเกิดพังผืดในตับมากขึ้นเรื่อยๆ พังผืดในตับนี้คล้ายกับการเกิดแผลเป็นที่ผิวหนังเวลาถูกมีดบาดหรือเวลามีการอักเสบ พังผืดในตับที่เกิดขึ้นจำนวนมาก จะทำให้สภาพการทำงานของตับเสื่อมลงและเกิดเป็นโรคตับแข็งในที่สุด

ผู้ชายมีโอกาสเป็นตับแข็งและมะเร็งตับสูงกว่าผู้หญิง นอกจากนี้ถ้าดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำหรือมีการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีหรือไวรัสเอชไอวีร่วมด้วย จะเพิ่มอัตราเร่งของการเป็นตับแข็งให้เร็วขึ้นอีกหลายเท่า

ผู้ป่วยตับแข็งในระยะแรกยังไม่มีอาการหรือความผิดปกติใดๆ สามารถดำเนินชีวิตได้ตามปกติ โดยที่ผู้ป่วยไม่ทราบว่าตนเองมีภาวะตับแข็งจนมีการสูญเสียการทำงานของตับมากๆ แล้วจึงเกิดอาการของโรคตับแข็ง ได้แก่เป็นดีซ่าน ตาเหลือง ปัสสาวะสีเข้มขึ้น มีขาบวมและมีน้ำคั่งในช่องท้องทำให้เกิดอาการท้องบวมโตที่เรียกว่าท้องมาน มีจ้ำเลือดตามตัวเนื่องจากการแข็งตัวของเลือดผิดปกติและมีเกล็ดเลือดต่ำ ในรายที่เป็นตับแข็งมากๆ อาจมีอาการซึม พูดไม่รู้เรื่องและหมดสติ เนื่องจากมีของเสียและสารพิษสะสมในร่างกายมากเกินไป

หลังจากเป็นตับแข็งแล้วภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญที่ตามมาคือการเกิดมะเร็งตับ การวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งตับทำได้โดยการตรวจด้วยเครื่องอัลตราซาวนด์หรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ โดยจะพบว่ามีก้อนเนื้องอกในตับ

มะเร็งตับเป็นมะเร็งที่พบบ่อยมากในคนไทย โดยมากกว่าครึ่งมีสาเหตุเกิดจากการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี ส่วนการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีเป็นสาเหตุที่พบมากเป็นอันดับ 2 รองลงไปเกิดจากโรคไขมันเกาะตับและการดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ

ทราบได้อย่างไรว่ามีการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซี

การวินิจฉัยว่ามีการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีต้องอาศัยการตรวจเลือด ในเบื้องต้นแพทย์จะตรวจเลือดที่เรียกว่า แอนตี้เอชซีวี (anti-HCV) ถ้าตรวจ anti-HCV ให้ผลบวกแพทย์จะตรวจเลือดเพิ่มเติมเพื่อยืนยันต่อไปโดยการตรวจสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัสที่เรียกว่า อาร์เอ็นเอของไวรัสตับอักเสบซี (HCV RNA) และตรวจหาสายพันธุ์ (genotype) ของไวรัสตับอักเสบซีต่อไป

ต้องปฏิบัติตัวอย่างไร หากท่านเป็นผู้หนึ่งที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ ซี

  • ไม่แพร่เชื้อให้ผู้อื่น หรือ คนใกล้ชิด
  • รับประทานอาหารให้ถูกสุขอนามัย รักษาสุขภาพให้แข็งแรง
  • หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
  • หลีกเลี่ยงยา หรือสารต่างๆที่มีอันตรายต่อตับ
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
  • พบแพทย์เป็นระยะๆ ท่านควรได้รับการตรวจประเมินการทำงานของตับเป็นระยะ ตามความเห็นของแพทย์