สวัสดีแฟนเพจดร.พิทักษ์ตับทุกท่านค่ะ วันนี้ขอเสนอข้อมูลเกี่ยวกับการปรับพฤติกรรมการกินอาหาร &การออกกำลังกายและโรคไขมันพอกตับซึ่งได้ตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารทางการแพทย์ Nutrient เมื่อเดือนมีนาคม 2562 นี้ค่ะ
อย่างที่ทราบกันดีว่าการเกิดโรคไขมันพอกตับมีปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญมากมาย เช่น น้ำหนักเกิน โรคอ้วน เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง และความดันโลหิตสูง เป็นต้น ซึ่งปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้สามารถป้องกันและรักษาได้โดยการปรับพฤติกรรมที่เกี่ยวกับการกินและการออกกำลังกายค่ะ
การศึกษาวิจัยนี้จึงรวบรวมข้อมูลงานวิจัยที่น่าเชื่อถือเกี่ยวกับโรคไขมันพอกตับและการควบคุมอาหารซึ่งเผยแพร่ทาง PubMed และ MEDLINE ระหว่างปีเดือนมกราคม พ.ศ. 2543 – ธันวาคม พ.ศ. 2561 จากการพิมพ์ค้นหาคำสำคัญ ได้แก่ “NAFLD”, “NASH”, “fatty liver”, “macronutrient”, “dietary”, “recommendations”, “composition”, “life-style intervention”, “Mediterranean diet” และทำการวิเคราะห์อย่างเป็นระบบค่ะ
ผลการศึกษาพบว่าการลดน้ำหนักให้ลดลง 7-10% ของน้ำหนักปัจจุบันโดยการลดแคลอรีอาหารและปรับสัดส่วนของอาหารให้ดีต่อสุขภาพร่วมกับการเพิ่มกิจกรรมทางกายหรือออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่องเป็นเป้าหมายที่สำคัญของผู้เป็นโรคไขมันพอกตับซึ่งจะช่วยหยุดยั้งโรคไขมันพอกตับได้ค่ะ
นอกจากนี้ยังพบว่าแนวทางการเลือกชนิดอาหารที่ดีต่อสุขภาพโดยสรุป ได้แก่
- เลือกอาหารคาร์โบไฮเดรตหรือกลุ่มข้าวแป้งที่ที่มีดัชนีน้ำตาลต่ำ เช่น ข้าวและแป้งไม่ขัดสี ธัญพืช ผัก และผลไม้ที่มีเส้นใยสูง เป็นต้น
- เลือกไขมันประเภทไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยวและเชิงซ้อน เช่นน้ำมันมะกอก น้ำมันคาโนลา น้ำมันรำข้าว น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันข้าวโพด น้ำมันเมล็ดดอกทานตะวัน เป็นต้น
- เลือกอาหารพรีไบโอติกส์ซึ่งพบมากในถั่วเหลือง ถั่วแดง ไฟเบอร์ในผักและผลไม้ต่าง ๆ หัวหอม กระเทียม เป็นต้น และโพรไบโอติกส์ซึ่งพบใน โยเกิร์ต น้ำผลไม้ ชีสจากการบ่ม กิมจิ เครื่องดื่มจากถั่วเหลือง ผักดอง เป็นต้น
- เลี่ยงการกินอาหารที่มีน้ำตาล ไขมันอิ่มตัว ไขมันทรานส์ ไขมันจากสัตว์ อาหารแปรรูป และอาหารที่ไม่ค่อยมีเส้นใยอาหารค่ะ
ขอบคุณแหล่งข้อมูลดีๆ:
- Perdomo, Carolina M et al. “Impact of Nutritional Changes on Nonalcoholic Fatty Liver Disease.”Nutrients 11,3 677. 21 Mar. 2019, doi:10.3390/nu11030677