การนอนหลับกับโรคตับเกี่ยวกันอย่างไร? : I3

0
7938

ต่อเนื่องจากสัปดาห์ที่แล้วที่ดร.พิทักษ์ตับได้นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับ..เวลาถึงหนึ่งในสามต่อวันของเรา หรือก็คือ “การนอนหลับ” นั่นเอง ในสัปดาห์นี้เรายังคงมีเรื่องราวเกี่ยวกับการนอนมาฝากกันค่ะ

การนอน แบ่งเป็น 2 ช่วง คือการนอนช่วง Non-rapid eye movement (NREM sleep) ซึ่งเป็นช่วงการนอนที่สำคัญ ซึ่งจะมีตั้งแต่ช่วงครึ่งหลับครึ่งตื่น ถึงช่วงหลับสนิทที่สุด

และอีกช่วงหนึ่งก็คือ การนอนช่วง Rapid eye movement (REM sleep) ซึ่งจะเกิดภายใน 90 นาที หลังจากนอน จะเป็นช่วงที่มีการกลอกตาอย่างรวดเร็ว กล้ามเนื้อเกิดการเกร็งตัว ช่วงนี้มักจะเกิดในช่วงฝัน (Dreaming) และทบทวนซ้ำสิ่งที่เพิ่งเรียนรู้เพื่อทำให้เกิดเป็นความจำระยะยาว (memory consolidation) โดยปกติแล้ว คนเราจะใช้เวลานอนช่วง NREM ร้อยละ 75-80 และ ร้อยละ 20-25 ในช่วง REM

ในหนึ่งวัน เราจะนอนหลับเป็นช่วง คือช่วง NREM ถึง REM ทั้งหมด 4 รอบ โดยหนึ่งรอบใช้เวลาประมาณ 90-110 นาที และอย่างที่บอกไว้ในสัปดาห์ก่อนว่า วัยผู้ใหญ่อย่างเราๆ ควรนอนหลับวันละ 7-9 ชั่วโมง ซึ่งเราจะนอนหลับเพียงพอหรือไม่ จะขึ้นอยู่กับกลไกการควบคุมของ SCN ที่สมองหรือ “นาฬิกาชีวิต” (Circadian Clock) ของแต่ละคน

บางคนอาจจะบอกว่า นอนแค่วันละ 5-6 ชั่วโมง ก็สามารถปฏิบัติชีวิตประจำวันได้ปกติ โดยที่ไม่มีอาการง่วงนอน แต่รู้หรือไม่ว่า การนอนหลับไม่เพียงพอเป็นระยะเวลานานๆ นั้น จะส่งผลต่ออวัยวะต่างๆ ของท่านอย่างไร

การศึกษาเร็วๆ นี้พบว่า ร้อยละ 50 ของคนที่เป็น#โรคตับแข็งที่ไม่ได้เกิดจากการดื่มแอลกอฮอล์ จะมีระดับฮอร์โมนเมลาโทนินที่ลดลง ซึ่งเมื่อระดับฮอร์โมนนี้ลดลงจะส่งผลเสียต่อการนอนหลับ หลับไม่ลึก ตื่นบ่อยในเวลากลางคืน จนทำให้นอนหลับไม่เพียงพอ โดยเฉลี่ยแล้วนอนหลับน้อยกว่า 6 ชั่วโมงต่อวัน

นอกจากนั้น ยังมีการศึกษาพบว่า คนไข้แถบประเทศสหรัฐอเมริกาและยุโรปตะวันตก ที่เป็น#ไวรัสตับอักเสบซี กว่าร้อยละ 60 จะมีปัญหาเกี่ยวกับการนอนหลับ และบางคนอาจพบอาการมึนงง และสมองตื้อ (Brain fog) ร่วมด้วย

ผลจากการรวบรวมข้อมูลการศึกษาจากหลายแห่งทั่วโลก พบว่าคนที่นอนหลับไม่เพียงพอ จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะไขมันเกาะตับ (NAFLD) ได้ประมาณ 1.2 เท่า เมื่อเทียบกับคนที่นอนหลับเพียงพอ และคนที่นอนหลับเพียงพอ 7-8 ชั่วโมง จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคไขมันเกาะตับ “น้อยกว่า” คนที่นอนหลับไม่พอ (น้อยกว่า 6 ชั่วโมง) ถึงร้อยละ 15 เลยทีเดียว

อ่านมาถึงตรงนี้ เอาเป็นว่า ดร.พิทักษ์ตับขออธิบายกลไก ให้ผู้อ่านเข้าใจซักนิด ดีกว่าว่า #การอดหลับอดนอน นั้น ไปเกี่ยวกับไขมันเกาะตับได้อย่างไร??

การอดนอน ส่งผลให้การหลั่งฮอร์โมน 2 ชนิดเสียสมดุล นั่นก็คือ ฮอร์โมนกรีลิน (Ghrelin) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ทำให้อยากอาหาร และเลปติน (leptin) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ลดความอยากอาหาร เมื่อเรานอนไม่พอ #ส่งผลให้ฮอร์โมนอยากอาหารเพิ่มขึ้นเราจึงรู้สึกหิวตลอดเวลา ทำให้บริโภคมากขึ้น นอกจากนั้นยังส่งผลให้มีการหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอล (cortisol) ที่มากผิดปกติ ซึ่งจะกระตุ้นให้เซลล์ไขมันเกิดการสร้างไขมันและเก็บสะสมไขมันไว้ที่ตับมากขึ้น สุดท้ายก็จะเสี่ยงต่อการเกิดโรคไขมันเกาะตับ จึงไม่น่าแปลกใจ ที่มีการศึกษาวิจัยมากมายชี้ว่า #คนที่อดนอนจะมีโอกาสอ้วนได้มากกว่าคนที่นอนหลับปกติ

เมื่อรู้เช่นนี้แล้วว่า..การนอนส่งผลกระทบร่างกายเราได้อย่างมากมาย เพราะฉะนั้นปรับพฤติกรรมกันสักนิด นอนหลับให้เพียงพอและเป็นเวลา เพื่อสุขภาพที่ดีกันนะคะ แล้วกลับมาพบกับเล่าข่าวสบายสไตล์ ดร.พิทักษ์ตับได้ใหม่ในวันศุกร์หน้า

ขอขอบคุณแหล่งสาระความรู้: Wijarnpreecha K, Thongprayoon C, Panjawatanan P, Ungprasert P. Short Sleep Duration and Risk of Nonalcoholic Fatty Liver Disease: A Systematic Review and Meta‐analysis. Journal of gastroenterology and hepatology. 2016 Mar 1.