จากที่ทราบกันไปแล้วจากสัปดาห์ก่อนหน้านี้ว่า การกินน้ำตาลฟรุกโตสในปริมาณที่มากเกินไปส่งผลให้เราเป็นโรคไขมันเกาะตับได้ แต่น้ำตาลฟรุกโตสนั้นส่งผลร้ายต่อตับของเราได้อย่างไรนะ..? วันนี้ดร.พิทักษ์ตับมีสาระความรู้ดีๆจากบทความมาฝากกันค่ะ
น้ำตาลฟรุกโตสนั้นเป็นตัวการหนึ่งของการเพิ่มระดับของกรดยูริก ดังนั้นการรับประทานอาหารที่มีน้ำตาลฟรุกโตสสูงจะนำไปสู่การสร้างกรดยูริกในระดับที่สูงด้วยเช่นกัน ซึ่งท่านผู้อ่านคงทราบดีอยู่แล้วว่าภาวะที่ร่างกายมีระดับยูริกในเลือดที่สูงเกินไปจะทำให้มีความเสี่ยงของการเกิดโรคเกาท์ นอกจากนี้ระดับของกรดยูริกที่สูงนั้นยังมีผลต่อการเกิดไขมันเกาะตับได้ด้วยนะ!!!! จากงานวิจัยที่ศึกษาในผู้ป่วยโรคไขมันเกาะตับพบว่าผู้ป่วยที่ได้รับสารที่ยับยั้งการสร้างกรดยูริกมีการสะสมของไขมันในตับลดลง นอกจากนั้นยังมีงานวิจัยที่ศึกษาในผู้ป่วยโรคไขมันเกาะตับในเด็กและผู้ใหญ่พบว่า ระดับกรดยูริกมีความสัมพันธ์กับการเกิดไขมันพอกตับ โดยระดับของกรดยูริกที่เพิ่มขึ้น 1 mg/dL จะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดไขมันเกาะตับได้ถึงร้อยละ 3
นอกจากน้ำตาลฟรุกโตสจะสามารถกลายเป็นกรดยูริกและส่งผลเสียต่อตับดังที่กล่าวมาแล้ว น้ำตาลฟรุกโตสนั้นยังเป็นแหล่งอาหารของเชื้อโรคในลำไส้และยังมีบทบาทต่อเจ้าจุลินทรีย์ตัวน้อยๆ ในลำไส้ของเรา และนำไปสู่การเกิดไขมันเกาะตับผ่านการทำปฎิกิริยาระหว่างจุลินทรีย์ในลำไส้และผลผลิตจากกระบวนการสร้างและสลายน้ำตาลฟรุกโตสในผนังลำไส้ได้อีกด้วย โดยน้ำตาลฟรุกโตสนั้นจะไปมีผลในการปรับเปลี่ยนสมดุลของจุลินทรีย์ในลำไส้จนนำไปสู่การเกิดไขมันเกาะตับได้นั่นเอง
แต่ถึงแม้ว่าน้ำตาลฟรุกโตสจะเป็นภัยร้ายต่อตับและร่างกายของเรา แต่ฟรุกโตสตามธรรมชาติที่พบในผลไม้และน้ำผึ้งนั้น ไม่ได้มีผลร้ายเท่ากับน้ำตาลฟรุกโตสสังเคราะห์หรือน้ำเชื่อมฟรุกโตสในเครื่องดื่ม เช่น น้ำอัดลม เนื่องจากน้ำตาลฟรุกโตสจากธรรมชาติมีคุณค่าทางอาหารรวมทั้งสารต้านอนุมูลอิสระที่มากกว่าซึ่งสารเหล่านี้นี่เองที่อาจไปช่วยต้านผลเสียที่เกิดจากน้ำตาลฟรุกโตสได้ แต่อย่าลืมว่าปริมาณน้ำตาลที่กินเข้าไปต้องไม่มากเกินความจำเป็นของร่างกายนะคะ
แค่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดำเนินชีวิตก็ทำให้เราห่างไกลจากโรคร้ายได้ คนยุคใหม่ ใส่ใจสุขภาพ หันมากินอาหารที่มีประโยชน์ ลดการกินอาหารที่มีรสหวานจัด และออกกำลังกายเป็นประจำ เพื่อสุขภาพที่ดีกันนะคะ