การใช้ Mobile application ในการดูแลสุขภาพของผู้ป่วยไขมันพอกตับ(NAFLD)

0
2579

เป็นที่ทราบกันดีว่าปัจจุบันคนไทยเป็นไขมันพอกตับกันมากขึ้นจากพฤติกรรมเนือยนิ่ง กินอาหารที่มีแป้ง-น้ำตาลและไขมันสูง มีน้ำหนักเกิน เบาหวาน และไขมันในเลือดสูง แต่ด้วยเทคโนโลยีที่มีมากขึ้นจึงทำให้เริ่มมีการพัฒนาแอพพลิเคชั่นในโทรศัพท์มือถือเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการให้ความรู้ คำปรึกษา และสนับสนุนใช้ดูแลสุขภาพของประชาชนและผู้ป่วยค่ะ

การวิจัยแรกนี้ เกี่ยวกับการพัฒนาออนไลน์แพลตฟอร์มสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ และแอพพลิเคชั่นต้นแบบในโทรศัพท์มือถือสำหรับอาสาสมัครใช้ในการบันทึกข้อมูลน้ำหนักตัว,ดัชนีมวลกาย,ระยะเวลาการออกกำลังกาย, การเผาผลาญแคลอรี, ปริมาณอาหาร เครื่องดื่มและแอลกอฮอล์ในแต่ละวัน โดยข้อมูลทั้งหมดที่กล่าวมา รวมถึงจากอุปกรณ์และเซ็นเซอร์ที่อาสาสมัครใช้วัดอัตราการเต้นของหัวใจ ความดันโลหิต และระดับน้ำตาลในเลือด และผลการตรวจจากโรงพยาบาล เช่น ค่าการทำงานของตับ พังผืดและไขมันพอกตับจะถูกบันทึกตั้งแต่เริ่มการใช้แอพพลิเคชั่น ในขณะเดียวกันข้อมูลทั้งหมดจะถูกส่งเข้าแพลตฟอร์มกลางเพื่อให้แพทย์และทีมเจ้าหน้าที่เห็นข้อมูลเหล่านี้และให้คำแนะนำในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้เหมาะสมกับสุขภาพแบบวันต่อวันเลยค่ะ

หลายท่านอาจจะเริ่มสงสัยว่าระบบการให้บริการแบบออนไลน์นี้จะทำได้จริงๆหรือ? เรามาดูผลการวิจัยซึ่งเพิ่งเผยแพร่เมื่อเดือนพ.ย. 2561 ที่ผ่านมานี้กันค่ะ การวิจัยนี้ทำระหว่างปีพ.ศ. 2553 –2558 ในอาสาสมัคร (อายุเฉลี่ย 52 ปี)ที่เป็นไขมันพอกตับจำนวน 716 คน ( 1/3 เป็นโรคเบาหวาน)  โดยเปรียบเทียบการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของอาสาสมัครกลุ่มที่ได้รับคำปรึกษาด้วยระบบออนไลน์ (278 คน) กับกลุ่มที่ได้รับคำปรึกษาที่คลินิก (438 คน) พบว่าการให้คำปรึกษาทั้ง 2 รูปแบบนี้สามารถช่วยลดดัชนีมวลกาย, น้ำหนักตัว , ค่าการทำงานของตับและปริมาณไขมันพอกตับให้ลดลงได้เช่นเดียวกันเลยค่ะ

หากติดตามข่าวจากแหล่งต่างๆจะเห็นได้ว่า เทคโนโลยีใหม่ๆที่จะมาในอนาคตอันใกล้นี้ จะเริ่มเข้ามามีบทบาทสำคัญที่จะช่วยอำนวยความสะดวกให้เราดูแลตนเองได้ดีและง่ายยิ่งขึ้น เนื่องจากทุกคนจะสามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลของตนเองและบริการทางการแพทย์จากที่บ้านได้อย่างง่ายดายมากๆค่ะ ซึ่งนอกจากจะช่วยทำให้สุขภาพกาย-ใจและคุณภาพชีวิตของเราดีขึ้นแล้ว ยังช่วยประหยัดทั้งเวลา ไม่ต้องขาดงาน และลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปโรงพยาบาลอีกด้วยค่ะ

 

ขอบคุณแหล่งข้อมูล

  • Forlano R, et. al. A mobile application for the management and follow-up of patients with Non-Alcoholic Fatty Liver Disease. Conference Paper in Journal of Hepatology, November, 2017.https://www.researchgate.net/publication/320865804_A_mobile_application_for_the_management_and_follow-up_of_patients_with_Non-Alcoholic_Fatty_Liver_Disease
  • Mazzotti et. al,  An internet-based approach for lifestyle changes in patients with NAFLD: Two-year effects on weight loss and surrogate markers. Journal of Hepatology, Volume 69, Issue 5 .https://doi.org/10.1016/j.jhep.2018.07.013