ไวรัสตับอักเสบซี: 5 สิ่งที่ควรรู้
ถึงแม้ยาต้าน #ไวรัสตับอักเสบซี ในปัจจุบัน จะเป็นยาที่มีประสิทธิภาพสูง ออกฤทธิ์โดยตรง ผู้ป่วยส่วนใหญ่ตอบสนองต่อยาดีมาก จนทำให้มีโอกาสที่หายขาดได้ถึงร้อยละ 90 อย่างไรก็ตาม ข้อมูลที่ #สองสาวเล่าโรค จะเล่าให้ฟังนี้ ก็เป็นสิ่งที่ทั้งแพทย์และผู้ป่วยควรทราบ
- ไวรัสตับอักเสบซีมีการเปลี่ยนแปลงกลุ่มเสี่ยง >>>แต่ก่อนพบว่าการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีพบมากในกลุ่มประชากรที่เกิดในพ.ศ 2488 ถึง พ.ศ. 2508 (อายุช่วง 50-70 ปี) แต่ในปัจจุบันพบมากในกลุ่มประชากรช่วงอายุ 20-35 ปี ที่มีประวัติติดยาเสพติดและใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน โดยพบทั้งในกลุ่มเพศหญิงและชายเท่าๆกัน รวมทั้งยังพบในหญิงตั้งครรภ์วัยเจริญพันธุ์อีกด้วย สมาคมโรคตับของสหรัฐอเมริกา (American Association for the Study of Liver Diseases หรือ AASLD) จึงมีการกำหนดให้มีการตรวจคัดกรองการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีในหญิงตั้งครรภ์ทุกคนและเพิ่มการคัดกรองในกลุ่มเสี่ยงดังกล่าว
- ไวรัสตับอักเสบซีเป็นมากกว่าโรคตับ >>>เนื่องจากการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซี กระตุ้นให้เกิดการอักเสบทั่วร่างกาย จึงส่งผลต่ออวัยวะอื่นนอกเหนือจากตับของเราด้วย ทำให้เกิดโรคอื่นๆร่วมด้วยหรือตามมา เช่นโรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคไตอักเสบเรื้อรัง และโรคมะเร็งในเนื้อเยื่อนอกตับ เพราะฉะนั้นถ้ารีบรักษาผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบซีเรื้อรังให้หายขาด ไม่เพียงแต่จะช่วยลดปริมาณไวรัส ลดการอักเสบ และลดพังผืดในตับ ยังมีประโยชน์ต่ออวัยวะอื่นๆที่กล่าวมาอีกด้วย
- พังผืดตับกลับมาได้ >>>ถึงแม้ว่าผู้ป่วยจะตอบสนองรักษาดีจนรักษาหายขาด แต่มีรายงานตรวจพบพังผืดในตับของผู้ป่วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากผู้ป่วยมีการติดเชื้อร่วมกับไวรัสตับอักเสบบี ไขมันพอกตับ และเบาหวาน ผู้ป่วยกลุ่มนี้ต้องมีการติดตามหลังการรักษาอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มที่มีภาวะตับแข็งก่อนรักษา ต้องติดตามการตรวจภาวะตับแข็งและมะเร็งตับร่วมด้วยทุก 6 เดือน
- การเข้าถึงการรักษายังคงมีข้อจำกัด และยังไม่ได้รับการรักษาได้อย่างทั่วถึง >>>อย่างไรก็ตามหลายประเทศ เช่นออสเตรเลียและอเมริกา พยายามลดค่าใช้จ่ายทางสาธารณสุข โดยรัฐบาลยอมจ่ายเงินเพื่อให้เข้าถึงการรักษา เช่นเดียวกับในประเทศไทยก็มีความพยายามที่จะผลักดันให้ผู้ป่วยทุกคนได้รับการรักษาอย่างเท่าเทียมกัน
- องค์การอนามัยโลก ตั้งแคมเปญว่าการรักษาไวรัสตับอักเสบซีมีความเป็นไปได้ที่จะหายขาดจากโลกใบนี้ภายในปี 2030 โดยลดอุบัติการณ์การเกิดโรคร้อยละ 90 ลดอัตราการเสียชีวิตร้อยละ 65 ลดการวินิจฉัยการติดเชื้อใหม่ร้อยละ 90 และลดการรักษาผู้ที่ติดเชื้อลงร้อยละ 80 >>>อย่างไรก็ตามการคัดกรองในปัจจุบันยังไม่ครอบคลุมพื้นที่ห่างไกล การเข้าถึงยายังคงมีข้อจำกัด เราคงต้องรอดูว่าอีก 10 ปีข้างหน้าสถานการณ์ไวรัสตับอักเสบซีจะเป็นอย่างไร ท้ายที่สุดนี้ ดร.พิทักษ์ตับอยากให้ทุกคนตระหนักถึงโรค หันมาตรวจสุขภาพ ตรวจคัดกรองไวรัสตับอักเสบซี/บี หากเจอก็รีบรักษา เพื่อลดความเสี่ยงของการเกิดโรตับแข็ง มะเร็งตับ รวมถึงโรคอื่นๆที่เกี่ยวข้องที่เราพูดกันก่อนหน้านี้นะคะ
ขอบคุณแหล่งข้อมูล: Hepatitis C: 5 Things to Know – Medscape – Jul 05, 2019.