สวัสดีค่ะ วันนี้ #สองสาวเล่าโรคจะมาเล่าเกี่ยวกับเชื้อไวรัสตับอักเสบให้ฟังกันอีกครั้งนะคะ
…………ปัจจุบันเชื้อไวรัสตับอักเสบที่มีความสำคัญทางคลินิก มี ชนิดได้แก่ ไวรัสตับอักเสบเอ บี ซี ดี และอี
– ไวรัสที่ติดต่อทางเลือด เพศสัมพันธ์ หรือติดจากแม่ไปลูกขณะคลอด ได้แก่ ไวรัสบี ไวรัสซี และไวรัสดี
-ไวรัสที่ติดต่อทางอาหารทีไม่สุกสะอาด ได้แก่ ไวรัสเอ ไวรัสอี สำหรับวันนี้จะกล่าวถึงไวรัสตัวแรกก่อนคือ ไวรัสเอ
เลือกอ่านตามหัวข้อ
ไวรัสตับอักเสบ “เอ” (Hepatitis A Virus, HAV)
ไวรัสตับอักเสบเอ เป็นไวรัสที่ก่อให้เกิดการติดเชื้อ และการอักเสบในตับ โดยผู้ป่วยเกิดอาการตัวเหลือง ตาเหลือง ไวรัสตับอักเสบยังเป็นปัญหาอยู่ โดยเฉพาะในพื้นที่ขาดแคลนระบบสุขอนามัยที่ดี
ลักษณะและการติดต่อ
ไวรัสตับอักเสบเอ เป็นอาร์เอ็นเอไวรัสสายเดี่ยว มีขนาดเล็กที่สุดในบรรดาไวรัสตับอักเสบทั้งหมด ซึ่งการดำรงอยู่ของไวรัสจำเป็นต้องอาศัยและแบ่งตัวอยู่ในเซลล์ตับ ไวรัสตัวนี้สามารถทนกรดในกระเพาะอาหารได้ การติดต่อเกิดขึ้นง่ายโดยติดต่อทางการรับประทานอาหาร หลังจากที่เชื้อโรคผ่านกระเพาะไปลำไส้เล็ก เชื้อจะฝังตัวอยู่ในเยื่อบุลำไส้ จากนั้นจะกระจายเข้าสู่ตับ ไวรัสจะแบ่งตัวจำนวนมาก มีการปนเปื้อนในน้ำดี และปนอยู่ในอุจจาระของผู้ติดเชื้อ ส่วนร่างกายก็พยายามกำจัดเชื้อออกจากตับ ส่งผลให้เกิดการอักเสบของตับ ในประเทศกำลังพัฒนา การติดเชื้อมักพบในวัยเด็ก ประเทศที่พัฒนาแล้ว การติดเชื้อในเด็กน้อยลง สำหรับประเทศไทย มีสุขอนามัยดีขึ้น ทำให้ความชุกของโรคลดลงอย่างมาก
อาการของโรค
ผู้ป่วยมีอาการเฉียบพลัน เริ่มด้วยมีไข้ เบื่ออาหาร อาเจียน ผู้ป่วยจะมีอาการประมาณสองถึงสามสัปดาห์ หรือในบางรายอาจนานกว่านี้ โดยปกติโรคนี้จะหายขาด และเมื่อหายแล้วจะมีภูมิคุ้มกันเกิดขึ้น ในเด็กส่วนมากจะเป็นการติดเชื้อแบบไม่มีอาหารหรืออาจจะมีอาการแต่น้อยมาก อาการจะเป็นมากขึ้นถ้าเป็นในผู้ป่วยที่อายุเพิ่มขึ้น มีส่วนน้อยที่อาจมีอาการรุนแรงและมีภาวะตับวาย
การวินิจฉัย
แพทย์สามารถวินิจฉัยการติดเชื้อได้โดยการตรวจเลือด โดยจะได้รับการตรวจค่าการทำงานของตับเพื่อดูว่ามีการอักเสบของตับหรือไม่ การตรวจเลือดดูภูมิต่อไวรัสเอ (AntiHAV (IgG))) ถ้าให้ผลบวก (positive) แปลผลได้ว่า อาจติดเชื้อมาก่อนหรือกำลังติดเชื้ออยู่ หรืออาจเคยได้รับวัคซีนไวรัสเอมาก่อน ส่วนการตรวจ AntiHAV (IgM) ถ้าให้ผลบวก แปลว่า กำลังติดเชื้ออยู่ในระยะเฉียบพลัน
การรักษาและการป้องกัน
ปัจจุบันยังไม่มียาสำหรับรักษาไวรัสตัวนี้ การรักษาเป็นไปตามอาการของผู้ป่วยในแต่ละราย ในคนที่มีภูมิแล้วจะไม่เป็นซ้ำ นอกจากนั้นในปัจจุบันยังมีวัคซีนป้องกันไวรัสเออีกด้วย โดยฉีดเข้าบริเวณกล้ามเนื้อจำนวน 2 ครั้ง ห่างกัน 6-12 เดือน มากกว่าร้อยละ 90 ของผู้ที่ฉีดวัคซีนเข็มแรก สามารถตรวจพบ anti-HAV IgG ได้ภายใน 2-4 สัปดาห์
กลุ่มประชากรที่ควรฉีดวัคซีน ได้แก่ ผู้ประกอบอาหาร ผู้ติดยาเสพติด นอกจากนี้ผู้อยู่ในสถาบันหรือสถานที่ซึ่งมีคนอยู่รวมกันเป็นจำนวนมาก ควรได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบเอเช่นเดียวกัน