รู้หรือไม่! คนไทยมากกว่า 7 ล้านคนติดเชื้อพยาธิใบไม้ในตับ จนเกิดเป็นโรคมะเร็งท่อน้ำดี (cholangiocarcinoma) โรคที่คนไทยในภาคอีสานติดเป็นอันดับแรกของประเทศ ปัจจุบันเชื่อว่าปัจจัยเสี่ยงมาจากการรับประทานอาหารดังต่อไปนี้
1) การติดเชื้อพยาธิใบไม้ในตับ (Opisthorchis viverrini) ซึ่งมาจากรับประทานปลาน้ำจืดที่ปรุงไม่สุก อย่างปลาวงศ์ตะเพียน เช่น ปลาซิว ปลาสร้อย ปลายี่สก ปลาตะเพียน ปลาแม่สะแด้ง ปลาขาว เป็นต้น ที่มีการปนเปื้อนของตัวอ่อนของพยาธิ โดยตัวอ่อนของพยาธิจะพัฒนากลายเป็นตัวเต็มวัยภายในท่อน้ำดี
2) การได้รับสารก่อมะเร็งอย่างสารประกอบไนโตรซามีน (Nitrosamine) ซึ่งพบได้ในอาหารหมักดอง เช่น ก้อยปลา ปลาร้า ปลาส้ม
เมื่อมีการติดพยาธิใบไม้ในตับ ในระยะแรกมักไม่แสดงอาการหรือมีอาการที่ไม่จำเพาะเช่นท้องอืด แน่นท้อง เป็นไข้ ปวดบริเวณลิ้นปี่ เมื่อโรคดำเนินต่อไปเป็นมะเร็งท่อน้ำดี อาการที่พบมากที่สุดคือ ดีซ่าน สังเกตได้จากมีตัวเหลือง ตาเหลือง ซึ่งอาการดังกล่าวจะพบเมื่อท่อน้ำดีถูกอุดตันโดยมะเร็ง อาการอื่นๆที่มักพบเช่น ปวดท้องบริเวณใต้ชายโครงขวา คันตามตัว น้ำหนักลด เป็นไข้ ปัสสาวะสีเข้ม อุจจาระสีซีด เป็นต้น
การป้องกันมะเร็งท่อน้ำดีจากพยาธิใบไม้ในตับสามารถเริ่มต้นทำได้ไม่ยากโดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคอาหาร โดยการไม่รับประทานปลาน้ำจืดดิบหรือปรุงไม่สุก ต้องปรุงให้สุกโดยการต้มหรือนึ่ง (อุณหภูมิที่มากกว่า 63°C เพียงพอให้ตัวอ่อนพยาธิตาย) หรือเปลี่ยนไปรับประทานปลาร้าสำเร็จรูป แต่ยังคงต้องปรุงก่อนรับประทานเนื่องจากยังคงมี เชื้อแบคทีเรีย สารกันเสีย และสารไนโตรซามีนอยู่
นอกจากนี้การขับถ่ายที่ถูกสุขลักษณะก็มีส่วนสำคัญในการลดการแพร่กระจายของโรค เพราะการอุจจาระที่มีไข่พยาธิใบไม้ในตับปนเปื้อนลงสู่แหล่งน้ำ ไข่ก็อาจเข้าสู่หอย และเจริญต่อไปจนครบวงชีวิต ทำให้เกิดการแพร่กระจายของเชื้อไปยังคนอื่นต่อไปได้ หรืออาจป้องกันมะเร็งท่อน้ำดีจากสารก่อมะเร็งได้เช่นกัน โดยงดการสูบบุหรี่ กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ และไม่รับประทานอาหารหมักดอง หรือ อาหารจำพวกที่มีสาร Nitrosamine เช่น ปลาร้า ปลาจ่อม ปลาส้ม แหนม ไส้กรอก เป็นต้น
ขอบคุณแหล่งอ้างอิง
CDC – Opisthorchis – Prevention & Control [Internet]. Cdc.gov. [cited 23 March 2019]. Available from: https://www.cdc.gov/parasites/opisthorchis/prevent.html