จุลินทรีย์ในลำไส้กับสภาวะสมองเสื่อม

0
4358

รู้หรือไม่? ว่าสิ่งมีชีวิตตัวน้อยๆ ที่อาศัยอยู่ในลำไส้ของเราที่เรียกว่าจุลินทรีย์ (gut microbiome) ซึ่งมีมากกว่า 1,000 ชนิด หรือประมาณ 3 ล้านยีน หรือคิดเป็นน้ำหนักประมาณ 2 กิโลกรัมเลยทีเดียว

ในลำไส้มีจุลินทรีย์ทั้งตัวที่ดีและตัวไม่ดีที่ก่อโรค (pathogens) ให้แก่ในร่างกาย

เพราะฉะนั้นเมื่อใดก็ตามที่จุลินทรีย์สองกลุ่มนี้เสียสมดุล (gut dysbiosis) จะส่งผลร้ายแก่ร่างกายตามมา

มีหลักฐานทางวิชาการมากมายที่รายงานว่า gut dysbiosis มีความสัมพันธ์กับภาวะการอักเสบในร่างกาย (inflammation) ลำไส้อักเสบ (inflammatory bowel disease (IBD) โรคอ้วน (obesity) ภาวะไขมันพอกตับ (fatty liver) โรคหลอดเลือดหัวใจ (cardiovascular disease) ความผิดปกติของภูมิคุ้มกัน (autoimmune condition) รวมถึงการศึกษาล่าสุดที่พบว่า gut dysbiosis มีความเชื่อมโยงกับภาวะสมองเสื่อม (dementia) อีกด้วย ซึ่งการเกิด gut dysbiosis ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากอาหารการกินของเรานั่นเอง

อ่านมาถึงตรงนี้บางคนอาจสงสัยว่าจุลินทรีย์ในลำไส้เกี่ยวข้องกับสมองอย่างไร??

…มีการศึกษาที่เชื่อว่าจุลินทรีย์ในลำไส้ควบคุมการทำงานของสมองผ่าน gut-brain axis เนื่องจากเมื่อจุลินทรีย์ในลำไส้เสียสมดุล จะมีโปรตีนในสมองที่ชื่อว่า เอมิลอยด์เบต้า (amyloid-beta) ในสมองเกิดความผิดปกติจับตัวกันเป็นก้อน ทำให้การสื่อสารระหว่างเซลล์ประสาทหยุดการทำงาน ซึ่งความผิดปกติดังกล่าวมักพบในผู้ป่วยที่เกิดความบกพร่องของสมองหรือมีความทรงจำบกพร่อง (cognitive impairment) และภาวะสมองเสื่อม (dementia)

การศึกษานี้จึงสนใจทำการตรวจหาจุลินทรีย์ในลำไส้จากอุจจาระด้วยการตรวจดีเอนเอ (16S rRNA) ของผู้ป่วยที่มีภาวะสมองเสื่อม (demented group) เปรียบเทียบกับผู้ป่วยที่ไม่มีภาวะสมองเสื่อม (non-demented group) อายุเฉลี่ย 74 ปี และเก็บข้อมูลพื้นฐานทางคลินิก ปัจจัยเสี่ยง การประเมินระบบประสาทด้วย neurophisicological test และการสแกนสมองด้วยการทำ MRI (brain MRI scan)

ผลการศึกษาพบว่าจุลินทรีย์ Bacteroides (enterotype 1) ซี่งเป็นจุลินทรีย์ที่ดี พบน้อยกว่าในกลุ่มอาสาสมัครที่เป็นโรคสมองเสื่อมเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ไม่เป็นโรคสมองเสื่อม ในขณะที่ enterotype 3 ที่เป็นจุลินทรีย์ก่อโรคพบมากกว่าในอาสาสมัครที่เป็นโรคสมองเสื่อม นอกจากนี้เมื่อวิเคราะห์ปัจจัยร่วมจากหลายปัจจัยแล้ว พบว่าการตรวจพบจุลินทรีย์กลุ่ม enterotype 3 มีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะสมองเสื่อมถึง 12.7 เท่า (OR 12.7, 95% CI 3.3 – 65.8, P < .001) ยิ่งไปกว่านั้นจุลินทรีย์ตัวนี้ยังมีความสัมพันธ์กับ APOE ε4 ที่เป็นตัวบ่งชี้มาตรฐานที่ใช้ตรวจคัดกรองการเกิดภาวะสมองเสื่อมอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม…. การศึกษาเพื่อหาหลักฐานสนับสนุนความสัมพันธ์ระหว่างจุลินทรีย์ในร่างกายกับสุขภาพร่างกายของมนุษย์ ยังคงต้องพัฒนาต่อไป เพื่อประโยชน์ในการใช้วินิจฉัย ป้องกัน และรักษาในอนาคต

#ฝากกดไลค์และแชร์ข้อมูลหากคิดว่าข้อมูลนี้มีประโยชน์แก่คนที่คุณรักและห่วงใย

ขอบคุณงานวิจัย: Scientific Report 9, Article number:1008 (2019).