จากวลีไทยติดปากที่ว่า “ร้อนตับแตก” วลีนี้เป็นจริงหรือเท็จมากเพียงใด วันนี้เราจะมาทำความเข้าใจเกี่ยวกับความร้อนและตับกัน
‘ความร้อน’ ในที่นี้จะกล่าวถึง โรคลมแดดหรือ heat stroke ซึ่งไม่ได้ทำให้ตับแตก แต่กลับทำให้เกิดภาวะตับวาย (liver failure) ได้ ซึ่งเป็นภาวะเร่งด่วนทางการแพทย์ วันนี้จึงขอนำเสนอความรู้เกี่ยวกับ “โรคลมเเดดกับภาวะตับวาย”
โรคลมเเดด (heat stroke) เป็นภาวะที่ร่างกายมีอุณภูมิสูงเกิน 40 องศาเซลเซียสร่วมกับมีการเปลี่ยนเเปลงทางระบบประสาท เช่น วิงเวียนศีรษะ สับสน พูดไม่ชัด กระสับกระส่าย เห็นภาพหลอน ไปจนถึงภาวะหมดสติ สาเหตุเกิดจากร่างกายไม่สามารถรักษาอุณหภูมิของร่างกายให้คงที่ ส่งผลให้อุณหภูมิของร่างกายสูงขึ้นกว่าปกติ มักพบได้บ่อยในคนที่ออกกำลังกายอย่างหนัก เช่น วิ่งมาราธอนในสภาพอากาศร้อนจัด, ทหารที่ฝึกอย่างหนักกลางแจ้ง และผู้สูงอายุที่มีโรคเรื้อรังซึ่งทำให้ไม่สามารถทนต่อสภาพอากาศร้อนและการขาดน้ำได้
โรคลมแดดก่อให้เกิดความเสียหายต่ออวัยวะหลายเเห่งในร่างกาย เช่น สมอง, หัวใจ, ไต, กล้ามเนื้อ และสามารถพบได้บ้างใน ‘ตับ’ ซึ่งเป็นหนึ่งในอวัยวะสำคัญ หากไม่ได้รับการรักษาอาจนำไปสู่ภาวะตับวายซึ่งถึงเเก่ชีวิตได้ ในคนไข้โรคลมเเดดส่วนใหญ่ ภาวะดังกล่าวสามารถเเก้ไขได้หากได้รับการรักษาที่เหมาะสม เเต่ในบางรายที่อาการรุนเเรงอาจจำเป็นต้องได้รับการปลูกถ่ายตับ
หากพบเจอคนที่เป็นโรคลมแดดควรทำอย่างไร?
สามารถทำการรักษาเบื้องต้นได้โดยใช้น้ำพรมตามร่างกายและใช้พัดลมเป่าให้น้ำระเหย หรือการใช้ถุงน้ำแข็งประคบตามรักแร้ คอ หลังและขาหนีบ
เราสามารถป้องกันการเกิดโรคลมแดดได้อย่างไร?
- ดื่มน้ำมากๆ เพื่อให้ร่างกายได้รับน้ำอย่างเพียงพอ
- หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เนื่องจากเพิ่มการขับน้ำทางปัสสาวะ ทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำมากขึ้น
- สวมใส่เสื้อผ้าที่เบาบางและไม่รัดแน่นจนเกินไป
- หลีกเลี่ยงการใช้กำลังเยอะในตอนกลางวันที่มีอากาศร้อน
- หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่ที่มีเเดดจัด
เเหล่งข้อมูล
https://www.bumrungrad.com/th/health-blog/March-2016/heatstroke-symptoms-prevention
Helman RS. Heat Stroke [Internet]. Background, Pathophysiology, Etiology. 2018 [cited 2019Mar19]. Available from: https://emedicine.medscape.com/article/166320-overview
Liver transplantation in patients with liver failure related to exertional heatstroke [Internet]. Journal of Hepatology. Elsevier; 2018 [cited 2019Mar19]. Available from: https://www.sciencedirect.com/science/article/pii/S0168827818325753?via=ihub