การรักษาไวรัสตับอักเสบซีลดความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดหัวใจได้

0
1576

          ข้อมูลจากประเทศสหรัฐอเมริกา  มีการศึกษาใหม่ระบุว่าการรักษาโรคไวรัสตับอักเสบซี (HCV) มีเกี่ยวข้องกับการลดความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดหัวใจ (CVD)  โดยปัจจุบันการรักษาไวรัสตับอักเสบซีโดยใช้ยากินแบบใหม่ หรือที่เรียกว่า “ยาต้านไวรัสที่ออกฤทธิ์โดยตรง (DAA) ที่สามารถรักษาให้หายขาดได้มากกว่าร้อยละ 90  นอกจากจะกำจัดไวรัสได้ ยังสามารถลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจได้อีกด้วยและดีกว่าการรักษาด้วยยาแบบเก่ากลุ่มอินเตอร์เฟอรอน (Pegylated interferon และ ribavirin)

 

          โดยคณะวิจัยได้ศึกษาฐานข้อมูลผู้ที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซี พบว่ามีผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีเรื้อรังมากกว่า 242,000 ราย ผลเบื้องต้นของการเกิดโรคเลือดหลอดหัวใจในผู้เข้าร่วมที่ได้รับยาตามแผนการรักษา แบ่งเป็นผู้ป่วยจำนวน 4,436 รายที่ได้รับการรักษาด้วยยากลุ่มอินเตอร์เฟอรอน และอีก 12,667 คนที่ได้รับการรักษาด้วยยาต้านไวรัสที่ออกฤทธิ์โดยตรง (DAA) โดยเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุมที่มีอายุ, เพศและเชื้อชาติเหมือนกันที่ไม่ได้รับการรักษาไวรัสตับอักเสบซี ซึ่งทุกรายไม่เคยเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจมาก่อน

          จากการติดตามระยะยาวพบว่ากลุ่มที่ได้รับการรักษาด้วยยาต้านไวรัส มีอุบัติการณ์ของโรคหลอดเลือดหัวใจเกิดขึ้นน้อยกว่ากลุ่มที่ไม่ได้รักษาอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (ร้อยละ 7 และ 14 ตามลำดับ)  ผลการวิเคราะห์จากหลายตัวแปรพบว่าการรักษาด้วยกลุ่มยาต้านไวรัสที่ออกฤทธิ์โดยตรง (DAA) สามารถลดอัตราการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจได้ดีกว่ากลุ่มที่ใช้ยากลุ่มอินเตอร์เฟอรอนประมาณ 2 เท่า

ดังนั้น การรักษาไวรัสตับอักเสบซีให้หายขาด นอกจากจะสามารถลดความเสี่ยงของการเกิดโรคตับแข็งและมะเร็งตับได้แล้ว ยังช่วยลดความเสี่ยงของภาวะแทรกซ้อนจากระบบหัวใจและหลอดเลือดได้อีกด้วยค่ะ

 

ขอบคุณแหล่งข้อมูลดีๆ จาก

สำนักข่าวรอยเตอร์สุขภาพ 2018  ประจำวันที่ 27ธันวาคม 2561

https://www.medscape.com/viewarticle/907013