การดื่มเครื่องดื่มที่มีรสหวาน ไม่ว่าจะเป็นเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของน้ำตาลเทียมหรือน้ำผลไม้ ล้วนเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวานเช่นเดียวกัน

0
3032
สวัสดีค่ะแฟนเพจทุกท่าน อย่างที่เราทราบกันดีว่าโรคเบาหวานเป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคไขมันพอกตับ  ดังนั้นวันนี้เพจดร.พิทักษ์ตับจึงนำบทความวิชาการดีๆเกี่ยวกับการดื่มเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลและเครื่องดื่มที่ใส่สารให้ความหวานแทนน้ำตาลหรือน้ำตาลเทียมในระยะยาวกับความเสี่ยงของการเกิดโรคเบาหวานซึ่งเพิ่งเผยแพร่ในวารสารทางการแพทย์  Diabetes Care เมื่อเดือนตุลาคม 2562 นี้มาฝากกันค่ะ

การวิจัยนี้ทำในอาสาสมัครหญิงที่อยู่ในโครงการวิจัย Nurses’ Health Study (พ.ศ.2529–2555) จำนวน 76,531 คนและ Nurses’ Health Study II (พ.ศ.2534–2556) จำนวน 81,597 คน และอาสาสมัครชายจาก  Health Professionals’ Follow-up Study (พ.ศ.2529–2555) จำนวน 34,224 คนค่ะ

ผลการวิจัยเมื่อติดตามในช่วง 2,783,210 คน-ปีของการติดตาม (person-years of follow-up) พบอุบัติการณ์การเกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2 จำนวน 11,906 ราย และพบว่าการดื่มเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล เครื่องดื่มที่ใส่น้ำตาลเทียม และน้ำผลไม้ 100% มากกว่า ½ ส่วนหรือเท่ากับปริมาณ 120 ซีซีต่อวัน ติดต่อกันเป็นระยะเวลามากกว่า 4 ปีขึ้นไปจะเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคเบาหวาน 16% ภายใน 4 ปีถัดไปค่ะ และการดื่มเครื่องดื่มที่ใส่น้ำตาลเทียมที่เพิ่มขึ้น ½ ส่วนหรือ 120 ซีซีต่อวันจะเพิ่มไปความเสี่ยงของการเกิดโรคเบาหวานสูงขึ้น 18% อย่างไรก็ตามพบว่าการดื่มน้ำเปล่า ชา หรือกาแฟ (โดยไม่เติมน้ำตาลและน้ำตาลเทียม) จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวานลง 2-10% ค่ะ

โดยสรุปจะเห็นได้ว่าการดื่มเครื่องดื่มที่มีรสหวาน ไม่ว่าจะเป็นน้ำหวาน น้ำอัดลม เครื่องดื่มที่ประเภทไดเอทซึ่งมีส่วนผสมของน้ำตาลเทียม หรือแม้กระทั่งน้ำผลไม้ 100% ล้วนมีผลต่อการเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวานเช่นเดียวกัน ดังนั้น การดื่มน้ำเปล่าและชา-กาแฟที่ไม่เติมน้ำตาลหรือน้ำตาลเทียมน่าจะเป็นทางเลือกที่ดีกับสุขภาพที่สุดค่ะ

ขอบคุณแหล่งข้อมูลดีๆ:

  • Drouin-Chartier JP and et.al. Changes in Consumption of Sugary Beverages and Artificially Sweetened Beverages and Subsequent Risk of Type 2 Diabetes: Results From Three Large Prospective U.S. Cohorts of Women and Men. Diabetes Care.2019 Oct 3. pii: dc190734. doi: 10.2337/dc19-0734. [Epub ahead of print
  • https://time.com/5691464/sugary-drink-alternatives/