อาหารแบบ เมดิเตอร์เรเนียน ช่วยลดค่าการอักเสบของตับ : I8

0
882

ผู้อ่านที่ติดตาม ดร.พิทักษ์ตับและ#HealthStudio ทุกท่าน อาทิตย์ก่อนเราได้นำเสนอ หลักการ 3 อ.ได้แก่ อาหาร ออกกำลัง และอารมณ์ เพื่อนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันไปแล้ว วันนี้เรากลับมาในเรื่องของ#ไขมันพอกตับ กับการรับประทานอาหารกันต่อนะคะ

อย่างที่ทุกท่านทราบกันมาก่อนหน้านี้แล้วว่า ภาวะไขมันพอกตับที่ไม่ได้เกิดจากแอลกอฮอล์ หรือ Non-alcoholic fatty liver disease (NAFLD) พบมากขึ้นในปัจจุบัน และส่งผลทำให้เกิดโรคตับแข็งและก่อให้เกิดโรคมะเร็งตับตามมา

เพราะฉะนั้นสิ่งที่สำคัญต่อผู้ที่มีไขมันพอกตับนั้น คือการออกกำลังกายเพื่อเผาผลาญไขมัน รวมไปถึงการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการรับประทานอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การปรับเปลี่ยนองค์ประกอบของอาหาร
ในปีที่ผ่านมา ทีมผู้วิจัยจากประเทศอิสราเอลทำการศึกษาแบบแผนในการรับประทานอาหารแบบเมดิเตอร์เรเนียน (Mediterranean pattern) ซึ่งมีสัดส่วนของผัก ผลไม้ ปลา อาหารทะเล และน้ำมันมะกอกซึ่งมีกรดไขมันไม่อิ่มตัวโอเมก้า 3 (n-3 polyunsaturated fatty acid: Omega-3 PUFA) เป็นองค์ประกอบที่สำคัญ เปรียบเทียบกับอาหารแบบตะวันตก(western dietary pattern) ซึ่งมีใยอาหารน้อย มีน้ำตาลฟรุกโตสสูง ประกอบด้วยเนื้อสัตว์แปรรูปซึ่งอุดมไปด้วยไขมันอิ่มตัว

ผลการศึกษาพบว่าผู้ที่รับประทานอาหารแบบเมดิเตอร์เรเนียน มีค่าการอักเสบของตับ (ALT) ลดลง การสะสมของไขมันในตับลดลง และมีระดับความรุนแรงของการเกิดไขมันพอกตับน้อยกว่ากลุ่มที่รับประทานอาหารแบบตะวันตก นอกจากยังลดความเสี่ยงในการเกิดไขมันอุดตันในเส้นเลือด ความดันโลหิตสูง และโรคหลอดเลือดหัวใจได้อีกด้วย
อย่างไรก็ตามอาหารไทยคงถูกปากเราที่สุดใช่ไหมคะ เพราะฉะนั้นเลือกรับประทานเมนูที่ประกอบด้วยผัก ปลา ใช้วิธีการนึ่งหรือต้ม เช่นน้ำพริกผักต้ม แกงจืด หรือแกงบางชนิดที่ไม่ใส่น้ำตาลและกะทิ หรือจะเปลี่ยนเมนูผัดของเราด้วยการใช้น้ำมันมะกอกบ้างในบางครั้งคงดีไม่น้อยเลยนะคะ เห็นไหมคะว่าไม่เพียงแต่ออกกำลังกายเท่านั้น การปรับเปลี่ยนการกินอาหารในชีวิตประจำวัน ก็ช่วยลดภาวะไขมันพอกตับได้ค่ะ

ที่มา The Mediterranean dietary pattern as the diet of choice for non-alcoholic fatty liver disease: Evidence and plausible mechanisms., Liver International. 2017.