จากข้อมูลการศึกษาวิจัยในประเทศไตหวัน พบว่ากลุ่มเป้าหมายที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรังและใช้ยาแอสไพรินร่วมด้วยช่วยลดอัตราการเกิดโรคมะเร็งตับได้ โดยใช้กลุ่มเป้าหมายทั้งหมด 204,507 ราย ที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีตั้งแต่ปี 2540-2555 เมื่อแบ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับการรักษาด้วยยาแอสไพรินทุกวันมากกว่า 90 วันขึ้นไป ซึ่งมีทั้งหมด 2,123 ราย คิดเป็นร้อยละ 98 ที่ได้รับยาแอสไพริน ปริมาณน้อยกว่าหรือเท่ากับ 100 มิลลิกรัมต่อวัน เทียบกับผู้ป่วยที่ไม่ได้รับยาแอสไพรินจำนวน 8,492 ราย ทั้งนี้ไม่รวมผู้ที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดอื่นหรือเอชไอวี หรือมีโรคตับที่เกิดจากแอลกอฮอล์
การศึกษาพบว่ากลุ่มที่กินยาแอสไพรินมีโรคมะเร็งตับเกิดขึ้นภายใน 5 ปีลดน้อยกว่ากลุ่มที่ไม่ได้กินยาแอสไพรินประมาณร้อยละ 30 ซึ่งอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ทั้งนี้ได้ควบคุมตัวแปรต่างๆที่มีผลต่อการเกิดมะเร็งตับเหมือนกันทั้งสองกลุ่มแล้ว เช่น อายุ เพศ ตับแข็ง เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง การใช้ยารักษาเบาหวานและยาลดไขมัน รวมทั้งการใช้ยาต้านไวรัส (antiviral therapy) นอกจากนี้ในการศึกษานี้พบผลข้างเคียงต่างๆของการใช้ยาแอสไพริน เช่นแผลในกระเพาะอาหาร ค่อนข้างน้อย
ข้อมูลที่น่าสนใจการศึกษานี้ก็คือยาแอสไพรินอาจลดความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งตับในผู้ป่วยโรคไวรัสตับอักเสบบีได้ อย่างไรก็ตามข้อมูลดังกล่าวยังไม่ได้ข้อสรุปแบบชัดเจนว่าแอสไพรินจะสามารถป้องกันโรคมะเร็งตับได้ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการศึกษาแบบสุ่มและมีกลุ่มควบคุม (randomized controlled studies) เพื่อยืนยันผลการศึกษานี้ต่อไปในอนาคต
ข้อแนะนำ จากการศึกษานี้คือผู้ป่วยโรคไวรัสตับอักเสบบีสามารถใช้ยาแอสไพรินได้ถ้ามีข้อบ่งชี้ของการใช้ยาดังกล่าวอย่างชัดเจน ประโยชน์ที่ได้เพิ่มเติมคืออาจลดความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งตับได้ ส่วนผู้ที่ไม่มีข้อบ่งชี้ของการใช้ยาแอสไพริน ต้องคำนึงถึงผลข้างเคียงของการใช้ยาแอสไพริน เช่นแผลในกระเพาะอาหาร หรือภาวะเลือดออกง่ายที่อาจเกิดขึ้นเมื่อมีการใช้ยาในระยะยาว ดังนั้นการใช้ยาจึงจำเป็นที่ต้องอยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์และควรมีการติดตามอาการเป็นระยะๆนะคะ
ขอบคุณแหล่งข้อมูลดีๆ จาก
วารสารการแพทย์ JAMA Internal Medicine ประจำวันที่ 19 มีนาคม 2562
https://www.medscape.com/viewarticle/910599