พฤติกรรมบริโภคอาหารที่มีผลต่อความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็ง

0
2564

สวัสดีค่ะแฟนเพจดร.พิทักษ์ตับ วันนี้มีข้อมูลดีๆเกี่ยวกับโรคมะเร็งและอาหารซึ่งเพิ่งเผยแพร่ข้อมูลใน JNCI Cancer Spectrum เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2562 มาฝากกันค่ะ

🍟การศึกษานี้ทำการวิเคราะห์ข้อมูลอย่างเป็นระบบจากหลายๆการศึกษาวิจัยที่ทำในอาสาสมัครชาวอเมริกันอายุ 20 ปีขึ้นไปที่มีข้อมูลการบริโภคอาหารและอุบัติการณ์การเกิดโรคมะเร็งโดยวิเคราะห์หาความสัมพันธ์ระหว่างอาหารและความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งด้วยการประมาณจำนวนและสัดส่วนของผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่กับพฤติกรรมการกินอาหารจำนวน 7 ประเภท ได้แก่ การกินผลไม้ ผัก และธัญพืชในปริมาณน้อย และการกินเนื้อสัตว์แปรรูป เนื้อแดง ผลิตภัณฑ์นม และเครื่องดื่มที่ใส่น้ำตาลเทียมในปริมาณมากค่ะ

🍫 ผลการศึกษาพบว่า

  • สาเหตุของการเกิดโรคมะเร็งของผู้ป่วยรายใหม่จำนวน 80,110 คน (5.2 %) ในปี 2558 มีความเกี่ยวข้องกับการกินอาหารบางประเภท
  • มะเร็งลำไส้ใหญ่มีจำนวนและสัดส่วนผู้ป่วยที่เกี่ยวข้องกับอาหารมากที่สุด (38%) รองลงมาเช่น มะเร็งในช่องปาก ลำคอและกล่องเสียง (26%), มะเร็งกระเพาะอาหาร (7%), มะเร็งมดลูก (6%), มะเร็งหลอดอาหาร (5%), มะเร็งไต (4%), มะเร็งตับ (3%), มะเร็งถุงน้ำดี (3%), มะเร็งเต้านม (1.5%) เป็นต้น
  • การกินธัญพืชและผลิตภัณฑ์นมในปริมาณน้อย และการกินเนื้อสัตว์แปรรูปในปริมาณมากเป็นปัจจัยสนับสนุนให้เกิดโรคมะเร็งสูงที่สุด
  • ชายวัยกลางคน (45-64 ปี) และชนกลุ่มน้อยเชื้อชาติ/ชาติพันธุ์ (คนผิวดำที่ไม่ใช่ลาตินอเมริกัน ลาตินอเมริกันและอื่น ๆ) มีสัดส่วนของการเป็นมะเร็งที่เกี่ยวข้องกับอาหารสูงสุดเมื่อเทียบกับอายุ/เพศ/เชื้อชาติและกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆค่ะ
  • กองทุนวิจัยมะเร็งโลกและสถาบันวิจัยมะเร็งแห่งอเมริกาได้ออกแนวทางในการป้องกันโรคมะเร็งโดยแนะนำให้ควบคุมน้ำหนักตัว กินอาหารที่ดีกับสุขภาพ และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอเนื่องจากมีข้อมูลการวิจัยจำนวนมากที่สนับสนุนว่าวิถีชีวิตและการกินการอยู่ของเราเกี่ยวพันกับการเกิด/การป้องกันโรคมะเร็งค่ะ

ประเทศไทยของเราเองก็มีแนวทางการกินอาหารเพื่อสุขภาพที่ดีหรือ “หลักโภชนบัญญัติ 9 ประการ” ซึ่งจัดทำขึ้นโดยกองโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุขและสถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล วันนี้จึงขอนำมาฝากกันอีกครั้งค่ะ

  • กินอาหารให้หลากหลายในสัดส่วนที่เหมาะสมและหมั่นดูแลน้ำหนักตัว
  • กินข้าวเป็นหลัก เน้นข้าวกล้อง ข้าวขัดสีน้อย อย่างน้อยในมื้อใดมื้อหนึ่งของวัน
  • กินพืชผักและผลไม้ไม่หวานจัดเป็นประจำ
  • กิน ปลา ไข่ เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน ถั่วเป็นประจำ
  • ดื่มนมและผลิตภัณฑ์เป็นประจำ
  • หลีกเลี่ยงอาหาร ไขมันสูง หวานจัด เค็มจัด
  • ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ ควรหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มรสหวาน
  • กินอาหารสะอาด ปลอดภัย
  • งดหรือลดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์

ขอบคุณแหล่งข้อมูลดีๆจาก

Fang Fang Zhang, et. al, Preventable Cancer Burden Associated with Poor Diet in the United States, JNCI Cancer Spectrum, , pkz034, https://doi.org/10.1093/jncics/pkz034

 Poor Diet Linked to 80,000 Cancer Cases in the United States – Medscape – May 30, 2019.