>>>สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ผู้ที่มีภาวะไขมันพอกตับที่ไม่ได้เกิดจากการดื่มแอลกอฮอล์ (Non-alcoholic fatty liver disease, NAFLD) ควรหลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ เนื่องจากแอลกอฮอล์อาจทำให้การทำงานของตับแย่ลง
>>>ทีมนักวิจัยได้วิเคราะห์ข้อมูลในคนเกาหลีทั้งในผู้ใหญ่ วัยกลางคนและคนหนุ่มสาว จำนวน 58,927 คน ที่มีภาวะไขมันพอกตับรวมทั้งในบางรายมีพังผืดในตับ (fibrosis) ที่ไม่รุนแรง โดยการศึกษาช่วงแรกทีมนักวิจัยได้ประเมินระดับพังผืดจากผลอัลตราซาวน์ หลังจากนั้นติดตามอาสาสมัครในโครงการจำนวน 30,000 คนต่อไปประมาณ 8 ปี พบว่าอาสาสมัครประมาณร้อยละ 20 (จำนวน 5,630 คน) มีการดำเนินของโรคตับมากขึ้นกว่าเดิม โดยระดับพังผืดพัฒนาจากระดับต่ำไปถึงระดับสูง
>>>จากการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมพบว่าผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์ในระดับปานกลาง (moderate drinking) ซึ่งมีประมาณร้อยละ 29 มีการพัฒนาของพังผืดในระดับที่สูงขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับผู้ที่ไม่ได้ดื่ม โดยในกลุ่มนี้ผู้ชายดื่มประมาณ 2 แก้วต่อวัน ส่วนผู้หญิงดื่มประมาณ 1 แก้วครึ่งต่อวัน นอกจากนี้ผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์น้อยเช่นดื่มประมาณ 1 แก้วต่อวัน (น้อยกว่า 10 กรัม) ยังมีโอกาสเกิดพังผืดเพิ่มขึ้นร้อยละ 6 เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ที่ไม่ได้ดื่ม
>>>อย่างไรก็ตามงานวิจัยนี้มีข้อจำกัดในด้านการประเมินระดับพังผืดในตับ ซึ่งการศึกษานี้ประเมินจากผลอัลตราซาวน์ แต่หากประเมินจากการตรวจชิ้นเนื้อตับหรือเครื่องไฟโบรสแกนอาจให้ผลที่แม่นยำกว่า นอกจากนี้ชนิดของแอลกอฮอล์ที่ไม่มีการระบุอย่างชัดเจน
>>>จากการศึกษานี้ได้ข้อสรุปที่น่าสนใจว่าผู้ที่มีภาวะไขมันพอกตับตั้งแต่เริ่มต้น แม้ว่าจะดื่มแอลกอฮอล์ในระดับน้อยๆหรือปานกลางยังมีโอกาสที่จะเกิดโรคตับที่รุนแรงในอนาคตได้ เช่นเป็นโรคตับแข็งหรือมะเร็งตับ ดังนั้นจึงควรงดการดื่มหรืออาจดื่มเพียงเล็กน้อยในการเข้าสังคมพบปะสังสรรค์กับคนอื่น นอกจากนี้การควบคุมอาหารและน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม รวมทั้งการออกกำลังกายอย่างส่ำเสมอจะช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคตับได้เป็นอย่างดีค่ะ
ขอบคุณแหล่งข้อมูลดีๆ จากวารสารการแพทย์ medscape ประจำวันที่ 8 สิงหาคม 2561 https://www.medscape.com/viewarticle/900460