นักวิจัยพบกลไกการดื้อต่อยา Tenofovir ที่ใช้ในการรักษาไวรัสตับอักเสบบีแบบเรื้อรัง

0
3177

ในปัจจุบันมีผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีแบบเรื้อรังทั่วโลกประมาณ 200-300 ล้านคน  และในแต่ละปีผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีเสียชีวิตจากโรคแทรกซ้อนราว 700,000 คน  อย่างที่ทราบกันดีว่า ผู้ที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีแบบเรื้อรังมีโอกาสเป็นมะเร็งตับสูงกว่าคนปกติ ยกตัวอย่างเช่น ถ้ายังไม่ได้เป็นตับแข็ง จะมีโอกาสเกิดมะเร็งตับประมาณ 1-2% ต่อปี แต่ถ้าเป็นตับแข็งแล้ว มีโอกาสเกิดมะเร็งตับประมาณ 2-5% ต่อปี ดังนั้นผู้ที่มีการทำงานของตับผิดปกติร่วมกับมีปริมาณไวรัสในเลือดสูงควรได้รับการรักษาด้วยยาต้านไวรัสเพื่อลดภาวะแทรกซ้อนของตับแข็งและมะเร็งตับ

ปัจจุบันยาที่ใช้รักษาไวรัสตับอักเสบบีแบบเรื้อรังที่ใช้อยู่มี 2 กลุ่ม คือ การรักษาด้วยยากลุ่ม interferon หรือที่รู้จักกันในนาม “ยาฉีด” และยากลุ่ม nucleos(t)ide analogues (NAs) หรือที่รู้จักกันในนาม “ยากิน” สำหรับการดื้อยากลุ่ม NAs  เกิดจากเชื้อไวรัสตับอักเสบบีมีการกลายพันธุ์ โดยเชื้อจะมีการกลายพันธุ์ที่สูงอยู่แล้วตามธรรมชาติ   ปัจจุบันได้มีการคิดค้นและพัฒนายาในกลุ่ม NAs มากมาย  เพื่อให้สามารถใช้ได้กับเชื้อที่มีแนวโน้มดื้อยามากขึ้น  ยากลุ่ม NAs ที่นิยมใช้ในปัจจุบัน ได้แก่ entecavir และ tenofovir เนื่องจากมีประสิทธิภาพดีและการดื้อยาน้อยมากเมื่อเทียบกับยาในกลุ่มเดียวกัน เช่น entecavir มีการดื้อยาเพียง 1%  ส่วน tenofovir แทบจะไม่พบว่ามีการดื้อยาเลย

มีข้อมูลที่น่าสนใจที่เพิ่งตีพิมพ์ในวารสารระดับนาชาติ (Journal of Hepatology) ในเดือนมีนาคม 2562 เป็นการศึกษาจากประเทศเกาหลีพบการดื้อยา  tenofovir เป็นครั้งแรก โดย ดร.ปาร์ค และคณะ พบว่าผู้ป่วยบางรายที่กินยา tenofovir สม่ำเสมอแต่การตอบสนองต่อยายังไม่ดีและมีเชื้อไวรัสในเลือดสูงมาก จากตัวอย่างเลือดของผู้ป่วยพบว่ามีการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัสอย่างน้อย 4 ตำแหน่งพร้อมๆกัน ซึ่งเป็นผลทำให้เกิดการดื้อต่อยา ในกรณีเช่นนี้แพทย์จะต้องเปลี่ยนยาต้านไวรัสเป็นชนิดอื่น เช่นเปลี่ยนเป็น entecavir แทน

ข้อมูลข้างต้นแสดงให้เห็นว่าการดื้อยาเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้แม้ว่ายาต้านไวรัสนั้นจะมีประสิทธิภาพดีมากเพียงใดก็ตาม โดยเฉพาะในช่วง 10 ปีที่ผ่านมายา tenofovir ถือว่าเป็นยาที่มีประสิทธิภาพสูงมากเมื่อเทียบกับยากินชนิดอื่น ดังนั้นเรายังคงต้องมีการพัฒนายาต้านไวรัสตับอักเสบบีชนิดใหม่ๆ เพื่อให้ทันกับเชื้อที่มีการกลายพันธุ์ที่เพิ่มขึ้นและมุ่งรักษาโรคนี้ให้หายขาดเช่นเดียวกับการรักษาไวรัสตับอักเสบซี

ขอบคุณแหล่งข้อมูลดีๆ จากวารสาร EASL, Journal of Hepatology ประจำวันที่ 4 มีนาคม 2562