การรักษาไวรัสตับอักเสบซีให้หายขาดลดความเสี่ยงของโรคเบาหวานได้

0
1885

การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซี และโรคเบาหวานชนิดที่สอง (Type 2 Diabetes Mellitus, T2DM) มีความสัมพันธ์กันอย่างซับซ้อน ซึ่งผู้ที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีแบบเรื้อรังและมีภาวะเบาหวานร่วมด้วย พบว่ามีแนวโน้มการเกิดตับแข็งเร็วขึ้น โดยปกติแล้วผู้ป่วยเบาหวาน จะมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ หากผู้ป่วยไม่ควบคุมการรับประทานอาหารและดูแลสุขภาพ ปล่อยให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงเป็นเวลานาน จะส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ตามมา ได้แก่ โรคไต โรคที่เกี่ยวกับหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง และจอประสาทตา จากรายงานในไต้หวันพบว่า ผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบซีที่มีภาวะเบาหวานร่วมด้วยรับการรักษาไวรัสตับอักเสบซีด้วยยาฉีด pegylated interferon ทำให้ภาวะโรคไต ระบบหัวใจและหลอดเลือดดีขึ้น

ในประเทศสหรัฐอเมริกา ทำการศึกษาในผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีที่มีภาวะเบาหวานร่วมด้วย จำนวน 1,395 คน โดยผู้ป่วยกลุ่มนี้ใช้ยารักษาเบาหวานร่วมด้วย พบว่าผู้ป่วยจำนวน 723 คน (ร้อยละ 52) รักษาไวรัสตับอักเสบซีด้วยยาฉีด (interferon) หรือยากิน (direct-acting antivirals, DAAs) ในจำนวนนี้มี 539 คน (ร้อยละ75) ที่หายขาดจากการรักษา (sustained virological response, SVR) จากการติดตามในระยะยาวพบว่ากลุ่มที่หายขาด มีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวานลดลงเมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่หาย เช่นภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน (acute coronary syndrome) โรคไตระยะสุดท้าย (end-stage renal disease) ภาวะหลอดเลือดสมอง (stroke) และภาวะเบาหวานขึ้นจอตา (retinopathy ) ลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P<0.001)

ดังนั้นการรักษาการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซี นอกจากจะสามารถลดความเสี่ยงของการเกิดตับแข็ง และมะเร็งตับได้แล้ว ยังช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจและภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวานได้อีกด้วย

 

ขอบคุณแหล่งข้อมูลดีๆ จาก

Li J, Gordon SC, Rupp LB, et al. Sustained virological response to hepatitis C treatment decreases the incidence of complications associated with type 2 diabetes. Aliment Pharmacol Ther. 2019;49:599–608. https://doi.org/10.1111/apt.15102